การเลี้ยงผีขุนน้ำ คือ การทำพิธีสังเวยผีหรือเทวดาอารักษ์ ผู้เป็นหัวหน้าของผีอารักษ์ทั้งหลายที่ทำหน้าที่ ปกปักรักษาป่าไม้อันเป็นต้นน้ำลำธาร เพื่อเป็นการขอบคุณเทวดาที่บันดาลให้มีน้ำใช้ในการเกษตรกรรม โดยเฉพาะในเขตลุ่มน้ำของลำน้ำนั้น ๆ และยังเป็นการขอให้ผีประจำขุนน้ำบันดาลให้ฝนตกและมีน้ำจากขุนน้ำหรือต้นน้ำนั้นลงมาสู่พื้นราบได้

ผีขุนน้ำเป็นอารักษ์ประจำต้นน้ำแต่ละสาย ซึ่งสิงสถิตอยู่บนดอยสูงอันเป็นต้นแม่น้ำทั้งหลาย มักจะอยู่ตามใต้ต้นไม้ใหญ่ ๆ เช่น ไม้ไฮ (ไทร) ไม้มะค่า หรือไม้ยาง เป็นต้น ชาวบ้านก็จะอัญเชิญมาสถิตอยู่ในหอผีที่ปลูกขึ้นอย่างค่อนข้างถาวรใต้ต้นไม้เหล่านั้น ผีขุนน้ำที่อยู่แม่น้ำใดก็จะได้ชื่อตามแม่น้ำนั้น เช่น ขุนลาว เป็นผีอยู่ต้นแม่น้ำ-ลาว เขตอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ขุนวัง อยู่ต้นแม่น้ำวัง ในจังหวัดลำปาง ขุนออน อยู่ต้นแม่น้ำ แม่ออน เขตอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น เพื่อแสดงความขอบคุณผีขุนน้ำที่ปกปักรักษาป่าไม้ที่เป็นต้นน้ำลำธาร ให้ชาวบ้านมีน้ำเพื่อใช้ในการทำ การเกษตร เช่น ทำนา ทำไร่ และเป็นการเตรียมตัวเพื่อรับฤดูการทำการเกษตร และร่วมมือกันในการปฏิบัติตาม กฎเกณฑ์ของการใช้น้ำ ช่วยกันขุดลอกเหมืองฝาย จัดเตรียมอุปกรณ์ในการทำการเกษตรให้พร้อม
ที่มา : http://www.prapayneethai.com/th/belief/north/view.asp?id=0340
: http://app1.bedo.or.th/rice/CultureInfo.aspx?id=8