5 พฤติกรรมเสี่ยงโรคหัวใจ
ReadyPlanet.com


5 พฤติกรรมเสี่ยงโรคหัวใจ


 5 พฤติกรรมเสี่ยงโรคหัวใจ

โรคหัวใจ ไม่ได้มีแต่ในละครนะคะ เห็นตัวละครรุ่นคราวพ่อคราวแม่เจ็บหน้าอก แล้วสุดท้ายก็เสียชีวิตเนี่ยไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใด เพราะใครๆ ก็มีสิทธิ์เป็นโรคหัวใจกันได้ทั้งนั้น แถมไม่ได้เกิดเฉพาะกับผู้สูงอายุเท่านั้นนะ เราทุกคน ทุกเพศทุกวัย สามารถเป็นโรคหัวใจได้ หากยังไม่ยอมหยุดพฤติกรรมเหล่านี้

เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่า หัวใจ เป็นอวัยวะที่สำคัญเป็นอันดับต้นๆ ของร่างกาย มีหน้าที่สูบฉีดโลหิตเพื่อนำเอาออกซิเจน และธาตุอาหารหลากหลายชนิดไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย หัวใจของคนเราแบ่งออกได้เป็น 4 ห้อง ประกอบด้วย 2 ห้องบนและ 2 ห้องล่าง หัวใจซีกขวารับโลหิตที่ใช้แล้วจากร่างกาย แล้วสูบฉีดไปยังปอดเพื่อรับออกซิเจน เมื่อโลหิตได้รับออกซิเจนแล้วก็จะไหลกลับไปยังหัวใจซีกซ้ายเพื่อถูกสูบฉีดผ่านไปยังเส้นเลือดใหญ่ จากนั้นจึงจะถูกนำไปหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย

ในขณะที่ร่างกายของเราได้พักผ่อนนอนหลับ หัวใจจะมีอัตราการเต้นอยู่ที่ประมาณ 60 - 100 ครั้งต่อนาที การเต้น หรือการบีบตัวในแต่ละครั้งเกิดขึ้นจากตัวกระตุ้นกระแสไฟฟ้าที่ถูกกระตุ้นด้วยเซลล์พิเศษอีกชั้นที่ชื่อ SA Node โดยกระแสไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจะเดินทางผ่านชุดเส้นใยนำไฟฟ้าที่อยู่ทั่วทั้งห้องหัวใจ จึงเป็นสาเหตุการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ

โรคหัวใจ นั้นเป็นคำกว้างๆ ที่หมายความครอบคลุมโรค ภาวะ และอาการหลากหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ ซึ่งอาจรวมถึงความผิดปกติของโครงสร้างหัวใจ ลิ้นหัวใจ และตัวที่คอยควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจให้สม่ำเสมออีกด้วย

สาเหตุของ โรคหัวใจ คืออะไร ?

สาเหตุของการเกิด โรคหัวใจ นั้นสามารถแบ่งออกได้เป็นหลายประเด็น ไม่มีสาเหตุที่ตายตัวแน่นอน แต่ก็มีปัจจัยเสี่ยงที่อาจบ่งชี้ว่าน่าจะมีส่วนในการพัฒนาไปสู่การเป็นโรคหัวใจได้ ในกรณีนี้ ขอพูดถึงปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน ซึ่งเป็นหนึ่งในประเภทของโรคหัวใจ โดยแบ่งออกได้เป็นดังนี้

ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถควบคุมได้

หากภายในครอบครัวมีประวัติที่พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย หรือมีพี่น้องที่เคยเป็นโรคหัวใจ เมื่อตกมาถึงเราก็มีโอกาสที่จะเป็นโรคหัวใจวายได้ ซึ่งพฤติกรรมการใช้ชีวิตในแต่ละวันนั้นล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่เราไม่สามารถควบคุม หรือเปลี่ยนแปลงได้ เช่นเดียวกับเรื่องของพันธุกรรมที่ได้รับการถ่ายทอดมา

อายุที่เพิ่มมากขึ้นก็อาจมีส่วนให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ ไม่ว่าจะในผู้หญิง หรือผู้ชาย ยิ่งมีอายุที่เพิ่มมากขึ้นเท่าไหร่ โอกาสที่จะเกิดไขมันในผนังหลอดเลือดก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น

เรื่องเพศก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่เราไม่ควรมองข้ามและเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ซึ่งจากงานวิจัยต่างๆ ก็แสดงให้เห็นว่า โรคหลอดเลือดหัวใจนั้นเกิดในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง โดยอาจมีสาเหตุมาจากฮอร์โมนเพศหญิงที่ช่วยควบคุมปริมาณไขมันให้อยู่ในระดับที่พอดี อีกทั้งผู้หญิงที่อยู่ในวัยหลังหมดประจำเดือนแล้วก็อาจความเสี่ยงการเป็นโรคได้

ปัจจัยเสี่ยงที่สามารถควบคุมได้

การสูบบุหรี่

การสูบบุหรี่ทำให้เกิดมะเร็งปอด หลอดลมอักเสบ อีกทั้งยังทำให้เกิดถุงลมโป่งพอ ซึ่งคนที่สูบบุหรี่ก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะหัวใจวายได้มากกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่ถึงสองเท่า และมีโอกาสเสียชีวิตจากโรคหัวใจอย่างกะทันหัน ฉะนั้น การเลิกสูบบุหรี่จึงจะดีที่สุด

ความดันโลหิตสูง

โรคความดันโลหิตสูง นั้น สามารถกระตุ้นให้กระบวนการสะสมไขมันที่ผนังหลอดเลือดเกิดขึ้นได้เร็ว อีกทั้งยังทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น เนื่องจากต้องสูบฉีดโลหิตแรงขึ้นสำหรับไปหล่อเลี้ยงให้ทั่วร่างกาย เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคความดันโลหิตสูง ควรควบคุมอาหาร ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด

คอเลสเตอรอลสูง

คอเลสเตอรอล คือ ไขมันชนิดหนึ่งที่ร่างกายเราสามารถผลิตขึ้นได้ อีกทั้งยังพบได้ในอาหารบางชนิด เมื่อมีภาวะของโรคหลอดเลือดหัวใจเกิดขึ้นขึ้น ก็จะพบว่าจะมีการสะสมคอเลสเตอรอลในหลอดเลือดหัวใจ ยิ่งมีในปริมาณที่มากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสพัฒนา และเติบโตของโรคหัวใจมากขึ้น เพราะฉะนั้นเราจึงต้องวางแผนการรับประทานอาหาร ควรเลือกแต่อาหารที่มีไขมัน และคอเลสเตอรอลต่ำเท่านั้น

เบาหวาน

โรคเบาหวาน คือ โรคที่เกิดจากความผิดปกติของระดับน้ำตาลที่อยู่ในเลือด มีสาเหตุมาจากร่างกายไม่สามารถผลิตอินซูลินได้ ซึ่ง อินซูลิน เป็นฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่เป็นตัวนำน้ำตาลออกจากเลือดไปยังเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย เมื่อผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน หรือมีภาวะที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นระยะเวลานาน ก็อาจเป็นสาเหตุให้เกิดการทำลายผนังภายในของหลอดเลือด อีกทั้งยังไปกระตุ้นให้เกิดคราบสะสมเกาะภายในผนังหลอดเลือดอีกด้วย

ไลฟ์สไตล์แบบนั่งอยู่กับที่ (Sedentary lifestyle)

การที่ไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวร่างกาย อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจได้ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกายเป็นอย่างมาก อาทิ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจแข็งแรง ช่วยให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ที่สำคัญ ยังช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล ควบคุมน้ำหนักตัว และยังช่วยลดความเครียดได้อีกด้วย การนั่งอยู่กับที่นานๆ โดยที่ไม่ขยับเขยื้อนไปไหนก็ยิ่งทำให้ร่างกายและสุขภาพยิ่งแย่ ดังนั้น จึงควรจึงขยับ หรือเดินไปเดินมาบ้าง จะช่วยทำให้ร่างกายผ่อยคลายมากขึ้น

ชนิดของโรคหัวใจ

  1. โรคหลอดเลือดหัวใจ
     
  2. โรคกล้ามเนื้อหัวใจพิการ หรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบที่เกิดจากไวรัส
     
  3. โรคลิ้นหัวใจพิการจากไข้รูมาติก
     
  4. โรคลิ้นหัวใจอักเสบจากการติดเชื้อ
     
  5. โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
     
  6. โรค หรือความพิการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ

5 พฤติกรรมเสี่ยงโรคหัวใจ

1. ทานอาหารไขมันสูง

 

เช่น ขาหมู หมูสามชั้น หนังสัตว์ทอด แกงกะทิมันๆ ต่างๆ หากบริโภคมากเกินไป อาจทำให้เกิดภาวะไขมันอุดตันเส้นเลือด ทำให้เลือดสูบฉีดไปเลี้ยงหัวไม่เพียงพอ จนทำให้เกิดภาวะหัวใจขาดเลือด และอาจนำไปสู่ภาวะหัวใจวายได้

2. สูบบุหรี่

หลายคนอาจจะคิดว่าการสูบบุหรี่ทำให้เป็นมะเร็งที่ปอดเท่านั้น จริงๆ แล้วบุหรี่เป็นสาเหตุที่สำคัญของโรคหัวใจเช่นเดียว เพราะบุหรี่ทำให้หัวใจขาดเลือด และเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันได้

3. เครียด

ที่เคยเห็นกันในละครว่าเหล่ามหาเศรษฐีทั้งหลายทำงานหนัก เครียด ต้องแบกรับภาระหนัก และมีความกดดันอยู่ตลอดเวลา จนเป็นโรคหัวใจนั้น เป็นเรื่องจริง เพราะเมื่อไรที่เราเครียด หัวใจเราจะทำงานหนักขึ้น หัวใจเต้นเร็วขึ้น ความดันโลหิตสูงขึ้น จนอาจเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ จนกระตุ้นอาการของโรคหัวใจให้เป็นหนักขึ้นได้ (ในกรณีที่ผู้ป่วยมีความเสี่ยงอยู่แล้ว)

4. ไม่เคยออกกำลังกาย

การวิ่ง เต้นแอโรบิค หรือออกกำลังกายแบบคาร์ดิโออื่นๆ เป็นเหมือนกันช่วยให้หัวใจได้ออกกำลัง เสริมสร้างความแข็งแรงให้กับหัวใจ พร้อมใช้งานหนักได้มากขึ้น หากหัวใจไม่เคยได้ออกกำลัง ก็จะทนต่อการทำงานหนักไม่ไหว เมื่อใดที่เราอยู่ในภาวะหัวใจต้องทำงานหนักแต่หัวใจรับไม่ไหว ก็จะทำให้หัวใจล้มเหลวได้

5. เป็นโรคเบาหวาน โรคอ้วน

หากคุณป่วยเป็นโรคเบาหวาน หรืออ้วนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว คุณก็เสี่ยงต่อการเป็นโรคัวใจเพิ่มมากขึ้น เพราะมีโอกาสสูงที่คุณจะมีไขมันในเลือดสูง ทำให้เลือดข้น อุดตันเส้นเลือดที่จะส่งเลือดไปหล่อเลี้ยงหัวใจ ทำให้หัวใจทำงานหนักเพิ่มขึ้น จนหัวใจทำงานไม่ไหว และล้มเหลวในที่สุด

ภาวะแทรกซ้อนจากการเกิดโรคหัวใจ

โรคหัวใจชนิดต่างๆ ที่เกิดขึ้นก็อาจนำไปสู่การเกิดภาวะแทรกซ้อนที่แตกต่างกัน โดยที่พบได้บ่อยที่สุด คือ หัวใจล้มเหลว ซึ่งเกิดขึ้นได้กับโรคหัวใจทุกชนิด ส่วนภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ นั้นอาจขึ้นอยู่กับโรคหัวใจที่ผู้ป่วยเป็น อาทิ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ที่อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ส่วนกลุ่มผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ ก็อาจตามมาด้วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน, โรคหลอดเลือดในสมองขาดเลือด, โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ และโรคหลอดเลือดแดงโป่งพอง ซึ่งภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้อาจนำไปสู่การเสียชีวิตอย่างเฉียบพลันได้

รู้อย่างนี้แล้ว หมั่นออกกำลังกาย งดสูบบุหรี่ ลดอาหารไขมันสูง และรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ เท่านี้คุณก็ลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจได้มากแล้วล่ะค่ะ

ข้อบ่งชี้อาจเป็นสัญญาณว่ามีความเสี่ยงเป็น ‘โรคหัวใจ’

1. มีอาการหอบจนตัวโยน

เมื่ออาการในลักษณะอย่างนี้แล้วไม่รีบไปพบแพทย์อย่างทันท่วงที หรือไม่ได้รับการรักษาก็อาจทำให้ถึงตายได้

2. ใจสั่นและหัวใจเต้นผิดจังหวะ

โดยปกติแล้วอัตราการเต้นของหัวใจคนเราจะมีความสม่ำเสมอ ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 60 - 100 ครั้ง/นาที แต่ในผู้ที่มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ อัตราการเต้นของหัวใจก็พุ่งไปถึง 150 - 250 ครั้ง/นาที

3. มีอาการเหนื่อยตอนที่ออกกำลังกาย

ในคราวที่ต้องขยับร่างกายอย่างต่อเนื่อง หรือต้องทำกิจกรรมที่ใช้แรงแล้วเกิดอาการเหนื่อยมากกว่าปกติ เป็นเพราะว่าหัวใจกำลังทำงานหนักขึ้น เพราะต้องสูบฉีดเอาโลหิตไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย ถึงแม้จะทำอะไรที่ใช้แรงแค่เพียงเล็กน้อยก็จะรู้สึกเหนื่อยกว่าปกติในแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

4. มักเป็นลมหมดสติอยู่บ่อยๆ

จังหวะการเต้นของหัวใจไม่ได้อยู่ในระดับที่สม่ำเสมอ เนื่องจากเซลล์ที่ให้จังหวะไฟฟ้าภายในหัวใจเสื่อมสภาพ ทำให้การเต้นของหัวใจช้าลงและส่งเลือดไปเลี้ยงที่สมองได้ไม่เพียงพอ เป็นเหตุให้เป็นลมหมดสติไปชั่วคราวได้

5. เจ็บหน้าอก หรือแน่นหน้าอก

อาการลักษณะเช่นนี้มักพบได้ในผู้ที่ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ซึ่งมีไขมันอุดตันอยู่ภายในหลอดเลือดหัวใจ อาการที่เกิดขึ้นจะทำให้รู้สึกเหมือนหายใจติดขัด อึดอัด และแน่นบริเวณกลางหน้าอกเหมือนมีของหนักทับอยู่ ส่วนมากอาการนี้จะแสดงออกให้เห็นเมื่อหัวใจกำลังทำงานหนัก

6. ขา หรือเท้าบวม

อยู่ดีๆ ก็เกิดอาการบวมขึ้นอย่างไม่ทราบสาเหตุ เมื่อกดดู เนื้อจะมีลักษณะบุ๋มตามนิ้วที่กดลงไป

7. ปลายนิ้วมือ ปลายนิ้วเท้า และริมฝีปากมีสีเขียวคล้ำ

เมื่อลักษณะเช่นนี้ปรากฏ จะแสดงให้เห็นว่าทางเดินของเลือดภายในหัวใจที่ห้องขวาและห้องซ้ายมีการเชื่อมต่อกันอย่างผิดปกติ ทำให้เกิดการผสมกันของเลือดแดงและเลือดดำ

8. หัวหยุดเต้นกะทันหัน

อาการหัวใจหยุดเต้นโดยทันทีนี้เกิดจากความผิดปกติของเซลล์หัวใจโดยตรง ทั้งยังมักเกิดกับผู้ที่ปกติ ไม่มีอาการของคนที่เป็นโรคหัวใจมาก่อน

ต้องดูแลตัวเองยังไงเมื่อเป็นโรคหัวใจ ?

  • ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • รับประทานยาชนิดต่างๆ ที่แพทย์แนะนำอย่างถูกต้อง ครบถ้วน 
  • หลีกเลี่ยงอาหารจำพวกที่มีไขมัน โดยเฉพาะไขมันที่ได้จากสัตว์
  • ควบคุมอาหาร รับประทานแต่อาหารที่ให้ประโยชน์ต่อร่างกายเท่านั้น
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายแข็งแร็ง ไม่เป็นโรคอ้วน
  • รักษาสุขภาพกายและสุขภาพจิตด้วยสุขอนามัยพื้นฐาน ลดความเครียดลง
  • ดูแลและควบคุมโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้โรคหัวใจกำเริบ หรือเป็นหนักขึ้น
  • เดินทางไปพบแพทย์ตามวันและเวลานัดเสมอ
  • เมื่อมีอาการเหล่านี้ จะต้องเดินทางไปพบแพทย์ฉุกเฉินทันที
    • มีอาการเหนื่อย หายใจติดขัด
    • แน่น หรือเจ็บหน้าอก อาจมีอาการเจ็บร้าวตั้งแต่บริเวณขากรรไกรลงไปยังหัวไหล่ หรือแขน
    • ชีพจรเต้นอ่อน เต้นเร็ว มีเหงื่อออกมาก หรือมีอาการวิงเวียนคล้ายจะเป็นลม
    • หยุดหายใจ หรือมีอาการโคม่า
  • อ้างอิง ข่าวสารสุขภาพ


ผู้ตั้งกระทู้ FF.TH :: วันที่ลงประกาศ 2023-02-15 11:49:52


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล