ค่าเงินบาทวันนี้ 13/2/66 เปิดท...
ReadyPlanet.com


ค่าเงินบาทวันนี้ 13/2/66 เปิดที่ระดับ 33.55 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลง


 ค่าเงินบาทวันนี้ 13/2/66 เปิดที่ระดับ 33.55 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลง

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้อ่อนค่าลง 33.55 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.35-33.65 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย ระบุ ค่าเงินบาทวันนี้เปิดที่ระดับ 33.55 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลง จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้าที่ระดับ 33.79 บาททต่อดอลลาร์ แนวโน้มของค่าเงินบาท ประเมินว่า เงินบาทมีความเสี่ยงอ่อนค่าต่อ และอาจทดสอบแนวต้านสำคัญ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก หากเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อ พร้อมการปรับตัวลงของราคาทองคำ ทั้งนี้ ควรจับตา ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ หลังนักลงทุนต่างชาติยังคงเดินหน้าขายสุทธิสินทรัพย์ไทยต่อเนื่องในสัปดาห์ก่อนหน้า นอกจากนี้ หากราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ก็อาจยิ่งสร้างแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาทได้ (ราคาพลังงานสูง กดดันดุลการค้า เนื่องจากประเทศไทย เป็น Net Importer พลังงาน)

อนึ่ง หากเงินบาทอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้านที่ประเมินไว้ มองว่า ในภาวะตลาดปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) เงินบาทก็มีโอกาสอ่อนค่าใกล้ระดับ 34.20 บาทต่อดอลลาร์ได้ ซึ่งกรณีดังกล่าวอาจเป็นไปได้ หากฝั่งผู้ส่งออกมีการปรับมุมมองต่อเงินบาท อาทิ ผู้ส่งออกไม่เร่งรีบขายเงินดอลลาร์และมองว่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลง หลังปรับตัวอ่อนค่าทะลุ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ อย่างไรก็ดี มองว่า โซน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ อาจเป็นจุดที่ผู้เล่นในตลาดบางส่วนที่มีสถานะ Long USDTHB ( ตั้งแต่การพลิกกลับมาอ่อนค่าเหนือระดับ 32.50 บาทต่อดอลลาร์) ใช้เป็นจุดในการทยอยขายทำกำไรหรือปิดสถานะ Long USDTHB บางส่วนได้ ซึ่งการปรับสถานะดังกล่าวก็อาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้บ้าง

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น มองว่า เงินดอลลาร์มีโอกาสแข็งค่าขึ้นต่อได้ หากตลาดเริ่มมองเฟดมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยสูงกว่า 5.25% ซึ่งต้องรอลุ้นภาพอัตราเงินเฟ้อ CPI โดยเฉพาะในส่วนอัตราเงินเฟ้อจากภาคการบริการ อนึ่ง การแข็งค่าของเงินดอลลาร์อาจถูกชะลอลงได้บ้าง หากตลาดยังคาดหวังการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยจากทั้ง BOE และ ECB

คงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 33.30-34.00 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.35-33.65 บาทต่อดอลลาร์

สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดการเงินยังคงถูกกดดันจากความกังวลแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด (ล่าสุดผู้เล่นในตลาดคาดเฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยถึงระดับ 5.25%) ในสัปดาห์นี้ มองว่า ควรระวัง ความเสี่ยงตลาดปรับมุมมอง (Repricing) แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด หากอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ (CPI) ไม่ได้ชะลอลงตามคาด ทั้งนี้ ตลาดจะรอจับตา ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด, BOE และ ECB

โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้

มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก

 

ฝั่งสหรัฐฯ – รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในเดือนมกราคม อาจสร้างความผันผวนให้กับตลาดการเงินได้ โดยในกรณีที่ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline CPI) และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ยังคงขยายตัวไม่น้อยกว่า +0.4% จากเดือนก่อนหน้า (คิดเป็นระดับ 6.4% และ 5.6% เมื่อเทียบจากปีก่อน ตามลำดับ) ตามที่บรรดานักวิเคราะห์ประเมินไว้ ก็อาจสะท้อนว่า อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ แม้จะชะลอตัวลง (ตามที่ประธานเฟดได้ระบุในการประชุมเฟดและในสัปดาห์ก่อนหน้า) แต่ก็อาจไม่ได้ชะลอเร็วนัก โดยเฉพาะหากตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่งและตึงตัว หนุนให้อัตราเงินเฟ้อในส่วนภาคการบริการชะลอตัวช้า ซึ่งในกรณีนี้ ผู้เล่นในตลาดอาจกลับมากังวลแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด และอาจเริ่มมองว่า เฟดมีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง จนแตะระดับสูงสุดที่มากกว่าระดับ 5.25% ซึ่งตลาดมองไว้ล่าสุด (จาก CME FedWatch Tool ตลาดประเมิน เฟดมีโอกาสราว 38% ที่จะขึ้นดอกเบี้ยสู่ระดับ 5.50% เพิ่มขึ้นจากโอกาสเพียง 5% ที่ตลาดมองในช่วง 1 เดือนก่อนหน้า) นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะมุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อและการปรับนโยบายการเงินเฟด หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมานั้นทยอยออกมาดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาด รวมถึงนักวิเคราะห์บางส่วนเริ่มมองว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจไม่ได้ชะลอตัวลงหนัก จนเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ในปีนี้ ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งหากผลประกอบการรวมถึงแนวโน้มผลประกอบการในอนาคต ออกมาแย่กว่าคาด ก็อาจส่งผลให้บรรยากาศในตลาดการเงินยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ต่อเนื่องได้

ฝั่งยุโรป – ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา รายงานข้อมูลเศรษฐกิจอังกฤษ โดยเฉพาะรายงานข้อมูลตลาดแรงงานและอัตราเงินเฟ้อ CPI โดยบรรดานักวิเคราะห์ต่างคาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป Headline CPI ของอังกฤษ ในเดือนมกราคม อาจชะลอลงสู่ระดับ 10.2% อย่างไรก็ดี แม้ว่า อัตราเงินเฟ้ออาจมีแนวโน้มชะลอลง ทว่า หากรายงานข้อมูลการจ้างงานอังกฤษยังคงสะท้อนภาพตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งและตึงตัว โดยเฉพาะ ค่าจ้างยังคงขยายตัวกว่า +6.5% ก็อาจสะท้อนว่า อัตราเงินเฟ้อของอังกฤษอาจชะลอตัวช้ากว่าที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) คาดหวัง ทำให้ BOE อาจจำเป็นต้องเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง ส่วนในฝั่งยูโรโซน ตลาดมองว่า เศรษฐกิจยูโรโซนในไตรมาสที่ 4 อาจขยายตัวเพียง +1.9%y/y กดดันโดยภาวะเงินเฟ้อสูง อย่างไรก็ดี วิกฤตพลังงานที่ไม่ได้รุนแรงอย่างที่กังวล รวมถึงมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพจากภาครัฐในหลายประเทศก็ช่วยให้เศรษฐกิจยูโรโซนไม่ได้ชะลอตัวลงหนัก และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ BOE และ เจ้าหน้าที่ ECB อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินของทั้ง BOE และ ECB

ฝั่งเอเชีย – ตลาดคาดว่า การทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นหลังการเปิดประเทศ ดังจะเห็นได้จากการท่องเที่ยวที่กลับมาคึกคักจะเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนให้ เศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาสที่ 4 อาจขยายตัวราว +1.8% จากไตรมาสก่อนหน้า เมื่อเทียบเป็นรายปี (q/q annualized) อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจชะลอลงในช่วงต้นปี 2023 ตามภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่อาจกดดันยอดการส่งออกและภาคการผลิต นอกจากนี้ ภาวะเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้นก็อาจกระทบการบริโภคของครัวเรือนได้ ในฝั่งนโยบายการเงิน ตลาดมองว่า ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย +0.25% สู่ระดับ 5.75% หลังอัตราเงินเฟ้อยังคงเร่งตัวสูงขึ้นใกล้ระดับ 9% ในขณะที่ ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) อาจตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 5.75% หลังค่าเงินรูเปียะห์ (IDR) กลับมาแข็งค่าขึ้น อีกทั้งอัตราเงินเฟ้อก็ชะลอลงต่อเนื่องและมีแนวโน้มกลับสู่กรอบเป้าหมาย 2%-4% ของ BI ได้ในปีนี้

ฝั่งไทย – ตลาดประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ของปีก่อนหน้า อาจขยายตัวราว +3.9% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน หนุนโดยการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคในประเทศ ขณะที่การค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในฝั่งการส่งออกอาจขยายตัวได้ไม่ดีมากนัก ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

อ้างอิง ข่าวเศรฐกิจ



ผู้ตั้งกระทู้ DIAMOND MQT :: วันที่ลงประกาศ 2023-02-13 14:42:08


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล